เทพกระจอก

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555


กำเนิดหมึกนำไฟฟ้า-ปฏิวัติสิ่งพิมพ์ไทย

จันท์เกษม รุณภัย


 อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทยที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและศักยภาพของการแข่งขันของประเทศในทุกระดับ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่กำลังประสบกับภาวะความนิยม "ขาลง" เนื่องด้วยด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีหลากหลายประเภทมากขึ้น อีกทั้งรวดเร็วและฉับไวกว่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเร่งคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อย่างเร่งด่วน

 ด้วยเหตุนี้ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. (NSTDA) ภายใต้การควบคุมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้เปิดศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ หรือ โทปิค (TOPIC: Thailand Organic & Printed Electronics Innovation Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตนวัตกรรมใหม่ในด้านดังกล่าว ทั้งยังมุ่งเน้นความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยให้ก้าวสู่นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต และผู้นำนวัตกรรมสิ่งพิมพ์อัจฉริยะแห่งประชาคมอาเซียน

 โดยภายในงานมี ดร.ทวีศักดิ์ ก่ออนันตกูล ผู้อำนวยการสวทช.เป็นประธาน และได้มีการเปิดตัวนวัตกรรมนำร่องใหม่ๆ ได้แก่ "หมึกพิมพ์นำไฟฟ้า" โดยสังเคราะห์ขึ้นจากสาร "กราฟีน" ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของโมเลกุลคาร์บอน มีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ สามารถตีพิมพ์ลงบนพื้นผิวได้หลายชนิด เช่น กระดาษ และแผ่นพลาสติก ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่

 อาทิ "บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ" (Smart Package) ที่สามารถแสดงข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวบนหีบห่อ และส่งข้อมูลความพอใจของลูกค้ากลับมายังผู้ผลิตได้ "หมึกพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์" (E-ink) ที่นำไปใช้ในแผ่นป้ายเก็บข้อมูล ที่ใช้คลื่นวิทยุเป็นสื่อพาหะ หรือ อาร์เอฟไอดี แทนเทคโนโลยีเดิมที่ต้องใช้โลหะทองแดง ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์ และมีต้นทุนสูงกว่า "กระดาษอัจฉริยะ" (E-paper) ที่สามารถแสดงข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวบนแผ่นพลาสติก สามารถโค้งงอได้ นอกจากนี้ ยังมีสารเปล่งแสงที่ใช้ในจอแสดงผลชนิด "โอแอลอีดี" ซึ่งใช้พลังงานและมีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ให้ภาพที่คมชัด สีสันสวยสดใสมากขึ้น

 รวมทั้ง "ฟิล์มสุริยะ" คือ แผ่นฟิล์มบางที่ทำหน้าที่เหมือนแผงรับพลังงานสุริยะเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า "แบตเตอรี่บาง" ที่มีความบางเพียงความหนาของกระดาษในปัจจุบัน ตลอดจนตัวตรวจวัดทางการแพทย์ที่มีราคาถูก จนสามารถใช้แล้วทิ้งได้ เช่น ตัวตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และสารพิษตกค้างในอาหาร

 ในโอกาสนี้ สวทช. ของไทยได้รับเกียรติให้เข้าเป็นสมาชิก "สมาคมอุตสาหกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์" หรือ โออี-เอ ภายใต้สมาพันธ์วิศวกรรมแห่งประเทศเยอรมันนี หรือ วีดีเอ็มเอ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 4 ในทวีปเอเชียที่เข้าเป็นสมาชิกของโออี-เอ หลังประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

 ศาสตราจารย์ ไรน์ฮาร์ด เบอร์แมน ตัวแทนคณะผู้บริหารสมาคมโออี-เอ กล่าวว่า โออี-เอ ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งเป็นสถาบันวิจัยและบริษัทเอกชนกว่า 10 องค์กร โดยมีเป้าหมาย คือ การสร้างเครือข่ายการพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยีดังกล่าว ในระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 188 องค์กร จากหลายประเทศทั่วโลก โดยประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกโออี-เอ คือการได้พบกับนักวิจัยจากองค์กรอื่น เครือข่ายธุรกิจและอุตสาหกรรมจากทั่วโลกที่จะร่วมกันผลักดันเทคโนโลยีรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ออกมาสู่ผู้บริโภค

 ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ หัวหน้าคณะนักวิจัยผู้คิดค้นหมึกพิมพ์นำไฟฟ้า ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค กล่าวว่า หมึกนำไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการสังเคราะห์ทางไฟฟ้าเคมีแบบพิเศษชนิดใหม่ ซึ่งจะไม่มีออกซิเจนตกค้างอยู่ ส่งผลให้ศักยภาพการนำไฟฟ้าสูงกว่า แตกต่างจากหมึกนำไฟฟ้าที่ต่างประเทศคิดค้นขึ้นก่อนหน้า ทางสวทช.จึงได้จดสิทธิบัตรหมึกพิมพ์นำไฟฟ้าชนิดนี้แล้ว

 ซึ่งขณะนี้ มีบริษัท "อินโนฟีน" ของคนไทย ได้ขอเช่าสิทธิในการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว นับเป็นองค์กรภาคเอกชนแห่งที่ 2 ของโลก ขณะที่ผลงานในปีหน้า ทางคณะนักวิจัยคาดว่า จะสามารถคิดค้นแบตเตอรี่แบบบางที่ใช้พิมพ์ลงบนกระดาษ เซ็นเซอร์ตรวจวัดทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง และกระจกเปลี่ยนสีได้ ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ นาโนเทค

 ภาคเอกชนผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์โทปิคได้โดยตรง โทรศัพท์ 02-564-8000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น